การตัดเหงือก คืออะไร
ตัดเหงือก (Gingivectomy) หรือ การศัลยกรรมตกแต่งเหงือก คือ การผ่าตัดเหงือกหรือเปลี่ยนรูปร่างของเหงือก เพื่อยกระดับเหงือกและทำให้ฟันดูยาวขึ้น นอกจากนี้ ยังทำเพื่อรักษาสภาวะบางอย่าง เช่น โรคเหงือกอักเสบ หรือปัญหาร่องเหงือกลึก ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการเกลารากฟันได้อีกด้วย
ซึ่งส่วนใหญ่การตัดเหงือกจะทำร่วมกันกับการครอบฟันหรือวีเนียร์, การรักษารากฟัน, การผ่าหรือถอนฟันคุด เพื่อให้เหงือกดูเรียบเนียนมากขึ้น
สาเหตุที่ต้องตัดแต่งเหงือก
สาเหตุที่ต้องตัดแต่งเหงือกส่วนใหญ่จะใช้เพื่อทำการรักษาร่วมกับการทำทันตกรรมอื่นๆ เช่น การตัดเหงือกภายหลังการจัดฟัน, การรักษารากฟัน, การทำครอบฟัน, แก้ไขปัญหาเหงือกเยอะ เหงือกบวม, การอุดฟัน, ระดับขอบเหงือกของฟันแต่ละซี่ไม่เท่ากัน, เหงือกงอกมาคลุมตัวฟันมากเกินไป ผลให้การรับประทานอาหารไม่สะดวก และบางรายอาจจะพูดไม่ชัด, การทำปากกระจับ ทำปากบางซึ่งถ้าทำการตัดเหงือกเพิ่มก็จะช่วยทำให้ฟันดูยาว เวลายิ้มก็จะไม่เห็นเหงือกมากจนเกินไป
โดยทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟันทำการรักษาด้วยการตัดเหงือก เพื่อป้องกันไม่ให้เหงือกเกิดความเสียหายมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ทันตแพทย์สามารถรักษาและทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
วิธีการตัดเหงือก มีอะไรบ้าง
สำหรับวิธีการตัดเหงือกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
• ตัดเหงือกด้วยใบมีด
เป็นการตัดขอบเหงือกออกด้วยวิธีการดั้งเดิม นั่นคือ การใช้มีด (blade) โดยทันตแพทย์จะทำการตัดเหงือกส่วนเกินออกตามร่องแนวฟัน แต่วิธีนี้ได้รับความนิยมน้อย เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ทำให้เลือดออกมากกว่าวิธีอื่น ต้องใช้เวลาในการพักฟื้น และถ้าทำความสะอาดไม่ดีพอก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
• ตัดเหงือกด้วยระบบไฟฟ้า หรือ ตัดเหงือกด้วยเลเซอร์
ส่วนวิธีที่ได้รับความนิยมคือ การตัดเหงือกด้วยเลเซอร์หรือระบบไฟฟ้า เนื่องจากช่วยควบคุมการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ มีอาการเจ็บน้อยกว่า แผลน้อยกว่า เหงือกไม่ช้ำ แทบไม่ทิ้งรสชาติ หรือสัมผัสหลังการตัดเหงือก อีกทั้งยังมีภาวะแทรกซ้อนที่น้อยกว่าการใช้ใบมีดผ่าตัด และไม่ต้องใช้เวลาในการพักฟื้นอีกด้วย
การตัดเหงือก มีกี่ประเภท
ปกติแล้วการตัดเหงือกที่คนส่วนใหญ่นิยมทำจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การตัดเหงือกธรรมดา
การตัดเหงือกธรรมดา (Gingivectomy) จะเป็นวิธีที่ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือตัดเหงือกส่วนเกินออก เพื่อปรับแนวเหงือกให้เรียบ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้มีปัญหามาก เพียงแต่มีเหงือกเยอะ และมีเหงือกงอกมาคลุมตัวฟันมากเกินไป เวลายิ้มจึงเห็นเหงือกมากกว่าคนทั่วไป ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจได้ แต่วิธีนี้อาจทำให้เหงือกที่ตัดกลับมาสู่ระดับขอบเหงือกเดิมก่อนที่ตัดได้ (relapse)
2. การตัดเหงือกกรอกระดูกฟัน
การตัดเหงือกกรอกระดูกฟัน (Aesthetic Crown Lengthening) คือ การตัดเหงือกร่วมกับการกรอแต่งขอบกระดูกใต้เหงือกออกบางส่วน จึงเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหากระดูกฟันนูนและมีเหงือกหนาจนลงมาคลุมฟันมาก โดยทันตแพทย์จะทำการผ่าตัดขอบเหงือกร่วมกับการกรอลดความสูงของขอบกระดูกฐานเหงือก ซึ่งจะให้ผลลัพธ์การรักษาแบบถาวร เหงือกจะไม่งอกกลับขึ้นมาอีก ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้แล้ว ยังช่วยป้องกันรากฟันผุ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนำไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับเหงือกและฟันอื่นๆ ได้อีกด้วย
ข้อดี – ข้อเสีย ของการตัดเหงือก
ข้อดีของการตัดเหงือก
• ช่วยแก้ปัญหาขาดความมั่นใจไม่กล้ายิ้ม
• ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคเหงือก เช่น เหงือกร่น เหงือกติดเชื้อ เหงือกอักเสบ ปัญหาร่องเหงือกลึก เหงือกบาดเจ็บ เป็นต้น
• ทำให้ทันตแพทย์และคนไข้สามารถรักษาและทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้น
• ช่วยป้องกันฟัน และรากฟันผุ
• ช่วยทำให้คนไข้ที่มีฟันผุ หรือฟันแตก สามารถรักษารากฟัน ครอบฟัน หรือบูรณะฟันซี่นั้นได้สมบูรณ์จากการตัดเหงือกเพิ่ม
• ช่วยเพิ่มความยาวของซี่ฟัน
• ช่วยทำให้การทำวีเนียร์ให้ดูมีมิติ และสวยงามมากขึ้น
ข้อเสียของการตัดเหงือก
หลังจากเข้ารับการตัดแต่งเหงือก หากคนไข้ไม่ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี อาจทำให้เกิดโรคช่องปากต่างๆ เกิดขึ้นได้อีก เช่น คอฟันสึก เหงือกบวม เหงือกร่น ฟันผุ อาการติดเชื้อ เป็นต้น